ภาพที่ ๑๔ เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกบรรพชา

        สันนิษฐานได้ว่า ภาพนี้เขียนขึ้นจากความรู้ และเข้าใจจากการที่ได้พบ ข้อความในพระพุทธประวัติ และปฐมสมโพธิกถา ตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ซึ่งผู้เขียนประมวลข้อความนั้น ๆ มาเขียนแสดงถึงการเสด็จออกจากพระราชวังของเจ้าชายสิทธัตถะ โดยเหตุการณ์ตอนนี้ สับสนกันจนจับใจความได้ยาก เท่าที่ศิลปินนำมาเขียนได้นี้ นับว่าเป็นความสามารถ และความเข้าใจซาบซึ้งเป็นอย่างดีแล้ว จึงสามารถเขียนได้ถึงเพียงนี้ ส่วนจะเป็นความจริงเพียงใดนั้นเป็นเรื่องยากที่จะตอบได้ แต่ก็เป็นภาพหนึ่งซึ่งแสดงถึงการเสด็จออกบรรพชา ของเจ้าชายสิทธัตถะโดยบุคคลาธิษฐาน คือมีภาพบุคคลแสดง

        แต่ถ้าสันนิษฐานในทางธรรมแล้ว ก็จะได้ใจความจากภาพนี้ว่า "การทำดีนั้น ย่อมจักมีผู้อนุโมทนาสาธุการด้วยมาก" เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา เพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ คือพระอมตมหานิพพาน และเพื่อหาทางปลดเปลื้องทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย ผู้เกิดมาในโลกแล้ว จะต้องได้รับเสมอเหมือนกันหมด คือ ความแก่ ความเจ็บ และความตาย ซึ่งเจ้าชายเข้าพระทัยว่าจะต้องมีทางแก้ ประดุจมีร้อนแล้วต้องมีเย็นแก้ฉะนั้น และทางนั้นคือบรรพชา เมื่อเจ้าชายเสด็จออกบรรพชา เพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ และเพื่อปลดเปลื้องทุกข์ของสัตว์โลกเช่นนั้น จึงมีผู้อนุโมทนาสาธุการมาก ประดุจเทวดาแห่ไปฉะนั้น และความดีนั้นเป็นของบริสุทธิ์ สะอาดปราศจากสิ่งที่จะถ่วงให้หนักได้ ในภาพจึงแสดงการเหาะไป ส่วนท้าวสักกเทวราชนำหน้านั้นแสดงถึงความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ยอมสละทุกอย่างเพื่อจะนำสรรพสัตว์ ให้พ้นจากทุกข์ พรหม ๔ หน้าแสดงถึงพรหมธรรม ๔ ประการอันมีมั่นในพระทัย คือ เมตตา มุทิตา อุเบกขา เทวดาทั้งหลายแสดงถึงความดีนั้น ๆ ส่วนพระยามาร แสดงถึงน้ำพระทัยของเจ้าชายส่วนหนึ่ง ที่ยงคำนึงนึกเป็นห่วงราชสมบัติบริวาร เป็นต้น โดยเฉพาะพระนางยโสธราผู้เป็นเทวี และราหุลกุมารผู้เป็นปิโยรส อันเป็นประดุจพระยามารผู้มีจิตบาป คอยกั้นมิให้เจ้าชายเสด็จออกบรรพชา ได้สะดวกฉะนั้น