ภาพที่ ๙ พระฉายของเจ้าชาย ไม่เอนเอียงไป

        กล่าวตามตำนาน เป็นภาพแสดงถึงพฤติการณ์ในสมัยที่ เจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร ยังทรงพระเยาว์มีพระชนมายุได้ ๗ ปี ครั้นเมื่อนักขัตฤกษ์วัปปมงคล พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นขัตติยประเพณีนิยม ในพระนครนั้นมาถึงเข้าโดยอภิลักขิตกาล พระเจ้าสิริสุทโธทนะ จึงมีพระราชบรรหาร ให้เชิญพระอัครปิโยรสเสด็จไปในงาน พระราชพิธีครั้งนั้นด้วย ครั้นเสด็จถึงจึงตรัสสั่งให้ราชบริพาร ช่วยแวดวงมงคลสถานบริเวณต้นหว้าใหญ ่ด้วยพระวิสูตรอันพิสิฐ พร้อมทั้งประดิษฐ์พระราชอาสน์ ปูลาดด้วยราชบรรจถรณ์ เป็นที่ประทับสำหรับพระราชโอรส เมื่อเจ้าพนักงานปฏิบัติการสำเร็จ หมดตามพระราชบัญชา และได้ทูลเชิญเจ้าฟ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร ขึ้นประทับบนพระประจุฐาน ภายใต้ชมพูพฤกษาฉายา 

        ฝ่ายพระพี่เลี้ยงต่างหลีกเลี่ยง ชวนกันออกไปภายนอกม่าน ชมพิธีการตามอัธยาศัย ปล่อยให้พระกุมารประทับ อยู่ภายในโดดเดี่ยวตามลำพัง พระองค์จึงทรงประทับนั่ง ตั้งบัลลังก์ขัดสมาธิ ดำรงสติกำหนดลมอัสสาสะปัสสาสะ เจริญพระอานาปานสติกรรมฐาน จนได้บรรลุปฐมญานเป็นสัมโพธินิมิตผิดประหลาด แม้ดวงภานุมาศจะบ่ายคล้อยถอยลงไป แต่ฉายาพฤกษาใหญ่ ยังตั้งตรงดำรงอยู่ ดูประหนึ่งว่าเวลาเที่ยง มิได้เอนเอียงชายบ่ายไป ตามแสงแห่งพระอาทิตย์ ครั้นพระพี่เลี้ยงกลับมาเห็น การณ์วิปริตผิดธรรมดา รีบกลับไปกราบทูล พระราชาให้ทรงทราบยุบลเหตุ ท้าวเธอจึงเสด็จมาทอดพระเนตร ดูเหตุการณ์อันน่าพิศวง แล้วได้ทรงย่อพระบวรกาย ประทับนั่งลงในสถานที่ใกล้ ยกพระหัตถ์ขึ้นถวายบังคมบรมราชโอรส โดยนิยมกำหนดให้ อัจริยคุณบุญญาภินิหารบานมี ก็ยุติอรรถคดีตามภาพแสดงเพียงเท่านี้

องค์บรรยายภาพ : พระประสิทธิ์วีริยคุณ วัดดุสิตาราม ธนบุรี