เทียนพรรษา
       ก่อนจะถึงเวลากำหนดเข้าพรรษา ของพระภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนาทุกปี คือก่อนวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หรือเดือน 9 ในกรณีที่มีอธิกมาส พุทธศาสนิกชนก็จะพากันขวนขวาย ให้มีการถวายเทียนจำนำ พรรษาแก่วัดในท้องถิ่นของตน เพื่อให้พระสงฆ์จุดบูชา พระรัตนตรัย เป็นเวลา 3 เดือน ถือว่าได้อนิสงส์มาก
         เหตุที่พุทธศาสนิกชน เน้นการถวายเทียนเป็นพิเศษ ในเทศกาลเข้าพรรษา ก็เนื่องมาจากธรรมเนียมประเพณี ที่ชาวพุทธปฏิบัติสืบต่อกันมา ในการใช้แสงประทีป บูชาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แสงเทียนนั้นแตกต่าง จากแสงไฟธรรมดา ตรงที่เป็นแสงแห่งวัตถุที่หอมบริสุทธิ์ คือขี้ผึ้ง แต่ในปัจจุบันจะใช้เป็น ไข แทนเนื่องจากขี้ผึ้งหายาก แสงเทียนสามารถจำกัดความมืดได้ เปรียบได้กับพระพุทธธรรม ซึ่งเป็นดวงปัญญาทำให้ คนเรามองเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริงหรือสัจธรรม
         เทียนพรรษา หรือเทียนจำนำพรรษา เป็นเทียนเล่มใหญ่ ขนาดเส้นรอบวงประมาณ 1 คืบ หรือเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-5 นิ้ว บางแห่งอาจจะถึง 10 นิ้ว ความยาวอย่างต่ำประมาณ 30 นิ้ว
         แต่เดิม พุทธศาสนิกชนหรือชาวบ้าน ช่วยกันรวบรวมขี้ผึ้ง ผู้ดำริที่จะหล่อเทียนก็ประกาศเชิญชวน ให้พุทธศาสนิกชนมาบริจาคขี้ผึ้ง และนัดวันเวลาที่จะหล่อ โดยจัดให้มีพิธีหล่อเทียนขึ้น ปัจจุบันนี้ ทำก็แต่เพียงรวบรวม เงินบริจาคเพื่อนำไปซื้อเทียน ที่มีผู้ผลิตออกมาจำหน่าย
         เทียนที่ได้รับการตกแต่ง ประดับประดาก็จะถูกนำขึ้นตั้งบนรถ หรือพาหนะอื่น พอได้วันเวลานัดหมายของการแห่ ก็จัดขบวนไปยังจุดเริ่มต้น แห่ไปตามแหล่งชุมชน มีวงดุริยางค์หรือดนตรีพื้นเมือง ประโคมนำขบวน เสร็จจากการแห่ก็จะนำไปถวายที่วัด ซึ่งเทียนจะถูกนำไปไว้ในพระอุโบสถ อันเป็นสถานที่ที่พระสงฆ์ จะประกอบพิธีสังฆกรรมตลอดพรรษา พระสงฆ์ในวัดประชุมพร้อมกัน พุทธศาสนิกชนรับเบญจศีลก่อน จบแล้วจึงกล่าวคำถวายธูปเทียน ดอกไม้