ครั้นต่อมาการรับกฐิน เกิดความลำบากขึ้น เป็นต้นว่า ผ้าที่ถวายไม่พอแก่พระสงฆ์ สงฆ์ไม่รู้ว่า จะให้แก่ใครเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้า ทรงบัญญัติสิกขาบทเพิ่มเติมผ่อนผัน หาความสะดวกในธรรมวินัย ประทานพระบรมพุทธานุญาต ให้ภิกษุผู้จำพรรษาสิ้น 3 เดือน มีจีวรเก่ากว่าเพื่อน และฉลาดในธรรมวินัย เป็นผู้รับกฐิน และให้ภิกษุที่จำพรรษาด้วยกัน อนุโมทนา เป็นอันได้ชื่อว่า ได้รับอนิสงฆ์ลดหย่อน ผ่อนผันจากธรรมวินัยบางข้อ คือเข้าไปในละแวกบ้าน โดยไม่ต้องอำลา เป็นต้น
         ประเพณีทอดกฐินสมัยนี้ ถ้าเป็นอารามหลวง ก็เสด็จพระราชดำเนิน ไปพระราชทานบ้าง พระราชทาน ให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการไปทอดบ้าง เรียกว่า “กฐินหลวง” ถ้าเป็นวัดราษฎร์ชาวบ้าน ก็จัดการทอดเอง บางทีก็รวมกันออกทรัพย์ คนละเล็กคนละน้อย จัดเป็นกฐินสามัคคีขึ้น ถ้าจะทอดวัดใด ก็ปิดฉลากบอกไว้ที่วัดนั้น เรียกว่า “จองกฐิน” ซึ่งจะปิดบอกไว้ ตั้งแต่ยังไม่ออกพรรษา เพื่อให้รู้กันทั่วไป พอออกพรรษาก็จะกำหนดวัน ให้พระสงฆ์ทราบ แล้วเตรียมผ้ากฐิน และสิ่งของบริวารอันได้แก่ ของที่จำเป็นแก่พระ จัดตามสติกำลังของตน
          เมื่อถึงวันทอดก็ช่วยกัน ขนไปยังพระอุโบสถ พิธีทอดกฐิน มักทำกันอย่างครึกครื้น มีแห่สนุกสนานกว่ากุศลวิธีอย่างอื่น เมื่อพร้อมกันที่วัดแล้ว ก็ให้สัญญาเช่น ตีระฆังให้สงฆ์ประชุมกัน เมื่อสงฆ์มาพร้อมกันแล้ว ผู้เป็นเจ้าของกฐินก็อุ้มผ้ากฐิน นั่งหรือยืนหันหน้า ไปทางพระประธานตั้งนโม 3 หน แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน 3 ครั้ง คำถวายนั้นมี 2 แบบ คือธรรมยุตร และมหานิกาย