เมื่อจบคำถวายพระสงฆ์ก็รับ "สาธุ" พร้อมกัน แล้วประเคนไตรกฐิน แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งอยู่ตรงหน้าหรือจะวางไว้เฉย ๆ ก็ได้ แล้วถวายเครื่องบริวาร ตามเวลาอันควร ต่อจากนั้น พระสงฆ์ก็จัดการมอบผ้า แก่ภิกษุผู้สมควรได้รับ เป็นอันหมดหน้าที่ ของเจ้าของกฐิน เมื่อฟังอนุโมทนาเสร็จแล้ว ก็กลับได้ ซึ่งพระท่านก็จะได้ ทำพิธีกรานกฐินต่อ
         พิธีกรานกฐิน คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน นำผ้ากฐินไปทำไตรจีวร ผืนใดผืนหนึ่ง เมื่อเสร็จจนถึงย้อม และผึ่งแห้งแล้ว พระสงฆ์ลงมาประชุม ในพระอุโบสถ แล้วท่านผู้รับกฐิน กระทำปัจจุทธรณ์ คือ การถอนผ้าเก่า อธิษฐานผ้ากฐินใหม่ เพื่อให้เป็นไตรจีวรต่อไป ครั้นแล้วพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง จะเป็นท่านผู้ครองกฐิน หรือผู้อื่นก็ได้ ขึ้นบนธรรมาสน์ แสดงธรรมเทศนา เกี่ยวกับเรื่องกฐิน
        "กฐิน" เป็นพุทธบัญญัติสำหรับสงฆ์ ส่วนหน้าที่ของทายก ก็เพียงหาผ้าพอทำเป็นไตรจีวรได้ จะเป็นสังฆาฏิหรือจีวร หรือสบงก็ตาม ถวายต่อที่ประชุมสงฆ์มิได้ตั้งใจให้บุคคล และสงฆ์ก็ต้องมีอย่างน้อย 5 รูป เพราะเป็นผู้ครองกฐินเสียรูปหนึ่ง เหลือ 4 รูปจะได้ครบ เป็นองค์สงฆ์มากกว่า 5 รูปขึ้นไปใช้ได้ ถ้าน้อยกว่า 5 รูปใช้ไม่ได้